นิ่วคืออะไร
- นิ่วเกิดขึ้นได้โดยการรวมตัวจับเป็นก้อนของผลึกสารที่ละลายอยู่ในน้ำปัสสาวะกับสารคอลลอยด์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ละลายอยู่ในน้ำปัสสาวะเช่นกัน
สาเหตุ
- ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่นอนแต่พบว่าสาเหตุที่เกี่ยวข้องนั้น เกี่ยวข้องกับสาเหตุภายในร่างกายของผู้ป่วยเองและสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย
ก.
-
- กรรมพันธุ์ ผู้ป่วยที่พ่อแม่เป็นโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนิ่วเช่นเดียวกันได้
- อายุและเพศ พบในชายมากกว่าหญิง พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก พบในเด็กชายน้อยกว่า 7 ปี และในผู้ใหญ่ช่วงอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไป
- ความผิดปกติในการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งหลั่ง Hormone ที่ควบคุมสาร Calium ออกมามากกว่าปกติ
- มีการตีบแคบของระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้าง
- ความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง โอกาสที่สารละลายในน้ำปัสสาวะตกผลึกก็มีมากขึ้น
- ความเป็นกรด/ด่างของน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรดมากจะเกิดการตกผลึกกรดยูริกซีสตีน ส่วนน้ำปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะเกิดการตกตะกอนของผลึกสารจำพวก Oxalate Phosphate Carbonate
- การอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- วัตถุแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในทางเดินปัสสาวะ
- ยาบางอย่าง ยาลดกรดที่กินอยู่เป็นเวลานานๆ ทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่างจะเกิดนิ่วพวก Phosphate ได้ง่าย
ข.
สาเหตุร่วมที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมตัวผู้ป่วย
- สภาพภูมิศาสตร์ มักอยู่บริเวณที่ราบสูงประเทศ พบมากในภาคอีสานและเหนือ
- สภาพอากาศและฤดูกาลในฤดูร้อน จะพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะมาก อาจเนื่องมาจากการเสียเหงื่อมาก ทำให้ปัสสาวะเข้มข้นทำให้นิ่วโตเร็วขึ้น จึงเกิดอาการขึ้น
- ปริมาณน้ำดื่ม ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะถ้าดื่มน้ำดื่ม และยังอาจจะเกี่ยวกับเกลือแร่ที่ละลายในน้ำดื่มของแต่ละท้องถิ่น
- สภาพโภชนาการ การบริโภคอาหารนานาชนิดและการดื่มน้ำดื่ม เป็นผลให้มีการเพิ่ม/ลดของสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของก้อนนิ่ว เช่น การกินอาหารพวกเครื่องในสัตว์ , ยอดผัก , สาหร่ายจะทำให้เกิดกรดยูริกได้ การกินอาหารจำพวกผักที่มีสารออกซาเลต เช่น ผักโขม ผักแพว หน่อไม้ ชะพลู ก็จะมีโอกาสเกิดนิ่วพวกออกซาเลต เด็กเล็กที่ขาดสารอาหารพวกโปรตีนจะเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมาก การขาดวิตามินเอ หรือได้รับวิตามินดีมากเกินไปก็ทำให้เกิดนิ่วได้
- อาชีพ ผู้ที่มีอาชีพเกษตรกรทำงานกลางแจ้ง ก็จะมีการเสียเหงื่อมาก ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นก็อาจมีการตกผลึกของสารละลายในน้ำปัสสาวะเกิดนิ่วได้ ผู้ที่มีรายได้ต่ำก็จะบริโภคอาหารจำพวกแป้งและผักมาก โปรตีนน้อย ทำให้เกิดนิ่วจำพวกออกซาเลตได้ง่าย ผิดกันกับผู้ที่มีรายได้สูงมีการบริโภคอาหารที่มีโปรตีน , ไขมันมากกว่าปกติ ทำให้เกิดเป็นนิ่วพวกกรดยูริก และนิ่วแคลเซียมสูง
นิ่วในไต
- ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ ถ้าหากมีอาการต่อไปนี้ก็ให้สงสัยว่าเป็นโรคไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเอว ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะเป็นเลือด หรือสีน้ำล้างเนื้อ หากมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วยก็จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะเป็นหนองมีกลิ่นเหม็น คาว หากมีการอุดตันร่วมด้วยก็จะมีก้อนในท้องส่วนบนซ้ายหรือ ขวา หากมีนิ่วที่ไต 2 ข้างและประสิทธิภาพในการทำงานเสื่อมไป ผู้ป่วยก็จะมีอาการปัสสาวะน้อยลง บวม โลหิตจาง คลื่นไส้ อาเจียนผิวหนังแห้งคล้ำ และคัน ผู้ป่วยอาจจะซึม หรือไม่รู้สึกตัวถ้ามีของเสีย ค้างอยู่ในกระแสเลือดมาก
นิ่วในท่อไต
- ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดเอว หรือปวดเป็นพักๆ ในข้างที่มีนิ่วข้างนั้นๆ อาจจะมีปวดร้าวมาท้องน้อย หน้าขา ถุงอัณฑะ หรือ แคมอวัยวะเพศหญิง หากนิ่วอยู่ในท่อไตส่วนล่างใกล้กระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยก็จะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่น เป็นหนอง หากผู้ป่วยมีไตข้างเดียว หรือมีนิ่วในไตทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยอาจจะไม่มีปัสสาวะออกมาเลย ผู้ป่วยอาจจะบวมน้ำ หอบ เหนื่อย ประสาทสับสน หรือไม่รู้สึกตัวได้
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการปวดปัสสาวะ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะสะดุด ปัสสาวะขุ่น หรือปัสสาวะเป็นสีเลือดจาง เมื่อหยุดเบ่งผู้ป่วยก็จะได้ปัสสาวะออกมาได้ใหม่และเกิดอาการขึ้นมาอีก
นิ่วในท่อปัสสาวะ
- นิ่วในท่อปัสสาวะจะหลุดลงมาจากกระเพาะปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขึ้นทันทีที่กำลังปัสสาวะไม่ออกมาเลยก็ได้ หากคลำดูตามท่อปัสสาวะก็จะคลำพบก้อนนิ่วแข็งๆ ได้
อาการแทรกซ้อน
- อาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นกรวยไตอักเสบ และถ้าปล่อยไว้นานๆ มีการติดเชื้อบ่อยๆ ก็ทำให้เนื้อไตเสียกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้
การวินิจฉัย
- มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจปัสสาวะ (พบมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก) ตรวจเลือด เอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี (Intravenous Pyelogram หรือ IVP) และอาจตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าจำเป็น ถ้าก้อนนิ่วเล็กอาจหลุดออกมาได้เอง แต่ถ้าก้อนใหญ่อาจจะต้องผ่าตัดเอาออก
การรักษา
- การรักษาโดยเฝ้าดูจะติดตามโดยการตรวจปัสสาวะว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ จะทำการติดตามโดย X-ray เป็นระยะดูการเปลี่ยนแปลง
- การรักษาโดยให้ยา นิ่วที่ได้ทำการวิเคราะห์ว่าเป็นนิ่วชนิดใดแล้วก็อาจให้ยาละลายนิ่วได้ นิ่วยูริกแอซิดก็ทำให้ยาทำให้ปัสสาวะเป็นด่างหรือร่วมให้ยาลดระดับยูริกเอซิด หรือซีสตีนในเลือดอาจให้ยาระงับความเจ็บปวดและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
- การรักษาโดยการผ่าตัดเอานิ่วออก เมื่อนิ่วมีขนาดใหญ่ไตมีการอักเสบไตโป่งพอง หรือไตไม่ทำงานแล้ว
- การรักษาโดยใช้เครื่องสลายนิ่วด้วยพลังเสียง (Extracorporeal shok wave lithotripsy/ESWL) เหมาะสำหรับนิ่วที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 ซม. และทางเดินปัสสาวะส่วนที่ต่ำกว่าไม่มีการตีบตัน เพื่อนิ่วที่สลายซึ่งมีขนาดเล็กลงสามารถผ่านปนมากับปัสสาวะได้
- การรักษาโดยใช้เครื่องส่องไตโดยผ่านท่อไต ใช้คลื่นเสียง Ultrasonic หรือ Laser ทำการสลายให้นิ่วมีขนาดเล็กลงแล้วคีบเอาออก
ข้อแนะนำ
- โรคนี้แม้ไม่มีอาการแสดงก็ควรรักษาอย่างจริงจัง ถ้าจำเป็นอาจต้องผ่าตัดเอาออกหรือใช้เครื่องมือสลายนิ่ว หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้
- ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากกว่าวันละ 8 แก้ว และลดอาหารที่มีกรดยูริกแคลเซียมและสารออกซาเลตสูง เช่น ถั่ว, เครื่องใน สัตว์ปีก, เบียร์, น้ำอัดลม, Chocolate เป็นต้น
- การดื่มน้ำมะนาววันละแก้วจะเพิ่มระดับ Citrate ซึ่งป้องกันนิ่วที่เกิดจากเกลือแคลเซียม