เบาหวานขึ้นจอตาคืออะไร
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดที่จอตาด้วย เลือดและสารต่างๆ จะรั่วซึมออกจากหลอดเลือดที่ผิดปกติเหล่านี้ และทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ตามความรุนแรงของโรค คือ ระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ และ ระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่
ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอตา ในระยะแรก มักไม่รู้สึกผิดปกติใดๆ เมื่อตรวจตาอาจพบจุดเลือดออกที่จอตา หากมีการรั่วซึมของหลอดเลือด จะพบจอตาบวม และเริ่มมีอาการตามัว หากโรคลุกลามมากขึ้น จนเกิดการอุดตันของหลอดเลือดจะทำให้เกิดภาวะจอตาขาดเลือด ซึ่งจะกระตุ้น ให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Neovascularization) หลอดเลือดเหล่านี้ มีลักษณะเปราะและแตกง่าย ทำให้เกิดเลือดออกในตาและเกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ผู้ป่วยมักมีสายตาแย่ลงอย่างมาก ทั้งจากเลือดออกและจากพังผืดดึงรั้งจอตาจนเกิดจอตาลอก อาการตามัว อาจเกิดจากการบวมบริเวณจุดภาพชัด (Macular edema) ซึ่งเกิดจากน้ำและไขมันรั่วออกจากหลอดเลือด จุดภาพชัดเป็นบริเวณสำคัญที่ใช้ในการมองภาพ ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติบริเวณนี้จึงส่งผลต่อการมองเห็นอย่างมาก ในรายที่เป็นรุนแรงหลอดเลือดบริเวณจุดภาพชัด อาจเกิดการอุดตันทำให้เกิดภาวะจุดภาพชัดขาดเลือด (Macular ischemia) ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
ทราบได้อย่างไรว่ามีเบาหวานขึ้นจอตา
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา จะไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติใดๆ จนเมื่อมีอาการตามัว จึงแสดงว่าโรคเบาหวานขึ้นจอตาเป็นมากแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง โดยจะได้รับการหยอดยาขยายรูม่านตา และตรวจจอตาอย่างละเอียด หากพบว่ามีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา แพทย์จะพิจารณาให้คำแนะนำและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป หากรอให้มีอาการตามัวมากจึงมารับการตรวจตา อาจทำให้ผลของการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร
การรักษาเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
ความผิดปกติที่เกิดจากเบาหวานขึ้นจอตานั้นไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นสภาพปกติได้ การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน มุ่งหวังให้โรคไม่ลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ การรักษามีหลายวิธี ดังนี้
- การรักษาด้วยเลเซอร์ ใช้ในการรักษาผู้ที่มีเบาหวานขึ้นจอตาในระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่และผู้ที่มีจุดรับภาพบวมเลเซอร์จะทำให้หลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติผ่อลงลดโอกาสการเกิดเลือดออกในวุ้นตา และเลเซอร์ช่วยให้จอตายุบบวม การมองเห็นจึงดีขึ้น การรักษาด้วยเลเชอร์อาจต้องแบ่งยิงหลายครั้ง เพื่อป้องกันภาวะจอตาบวมจากเลเซอร์ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยเลเซอร์พบได้น้อยมาก หากผู้ป่วยร่วมมือและได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาวิธีใหม่โดยการฉีดยาที่มีคุณสมบัติลดการรั่วของหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดที่เกิดใหม่ฝ่อลง ยาที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 กลุ่มคือยาสเตียรอยด์และยาต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ การรักษาโดยวิธีนี้ได้ผลค่อนข้างดีแต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นานและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน จากการฉีดยาเข้าวุ้นตา ได้แก่ การอักเสบติดเชื้อ เลือดออกในวุ้นตา และการเกิดจอตาลอก ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยกว่าร้อยละ1 นอกจากนั้นยาสเตียรอยด์ยังสามารถทำให้เกิดต้อกระจกและต้อหินในผู้ป่วยบางรายได้
- การรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวุ้นตาส่วนใหญ่เลือดจะถูกดูดซึมหมดไปเองในระยะเวลา 2-3 เดือน ในรายที่เลือดไม่ถูกดูดซึมหมดไป หรือมีจอตาลอกจากพังผืดดึงรั้ง การผ่าตัดวุ้นตาอาจช่วยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและสามารถซ่อมแซมจอตาที่ลอกให้กลับเข้าที่เดิม เพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น แต่อาจไม่ชัดเป็นปกติ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลโดย
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
เวลาทำการ : ตรวจรักษาและดูแลดวงตา ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร : 02-022-7644