โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก คือโรคทางระบบประสาทที่มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของใบหน้าโดยเป็นครึ่งซีก เกิดจากการที่มีการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ถูกควบคุมโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เคลื่อนที่ผิดปกติไป มีลักษณะแบบเกร็งกระตุกเป็นระยะโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้แม้กระทั่งตอนนอนหลับก็คงยังกระตุกอยู่ อาจเป็นสาเหตุที่รบกวนการนอนหลับในผู้ป่วยบางราย
ลักษณะของใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
อาจเริ่มต้นกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาก่อนโดยมีการเกร็งกระตุกเป็นระยะเมื่อการดำเนินโรคเป็นมากขึ้นจะมีการกระตุกที่มุมปากข้างเดียวกันจนอาจทำให้มีลักษณะตาปิดร่วมกับมีปากเบี้ยวข้างเดียวกันเป็นพักๆได้
สาเหตุของใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
- อาจเกิดตามหลังจากประสาทสมองคู่ที่ 7 มีการอักเสบ (Bell’s palsy) หรือ ได้รับอุบัติเหตุ
- เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ถูกกดเบียดโดยเส้นเลือดที่อยู่ชิดกันบริเวณก้านสมอง
- เกิดจากเนื้องอกบริเวณก้านสมองไปกดทับประสาทสมองคู่ที่ 7 และ 8 ทำให้มีใบหน้ากระตุกร่วมกับการได้ยินลดลง
- โรคของปลอกหุ้มประสาทสมองส่วนกลางอักเสบ
- ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
แนวทางการรักษา
- การรับประทานยา ใช้ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่น clonazepam เพื่อลดการกระตุกโดยพบว่ามีประสิทธิผลเพียง 30% แต่มักจะมีผลข้างเคียง เช่น ง่วงนอน อาจไม่สามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันได้ปกติ
- การผ่าตัดเพื่อแยกส่วนของหลอดเลือดที่กดทับประสามสมองคู่ที่ 7 ออกจากกันถือเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงเนื่องจากอาจเกิดผลแทรกซ้อน เช่น การได้ยินลดลง ปากเบี้ยว มีเลือดออกที่ก้านสมอง เป็นต้น
- การฉีดยา Botulinum toxin type A เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีโดยสารโบทูลินัม ท็อกซินเป็นโปรตีนที่สร้างจากเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ในการสกัดกั้นกระแสไฟฟ้าจากปลายประสาทมากล้ามเนื้อ ทำให้การเกร็งกระตุกลดลงได้ชั่วคราวหลังจากฉีด โดยยาจะออกฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมาฉีดยาซ้ำทุก 3-4 เดือน ตามระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยา วิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลดีและปลอดภัยได้รับการยอมรับในปัจจุบัน
บทความโดย
พญ.ปิยวดี ชัยมงคลตระกูล
แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทจักษุและกล้ามเนื้อตา
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลโดย
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
เวลาทำการ : ตรวจรักษาและดูแลดวงตา ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร : 02-022-7644