หัวใจของมนุษย์เป็นอวัยวะที่ทำงานหนักที่สุดในร่างกาย คือ ทำงานตั้งแต่ยังไม่เกิด ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา และจะไม่มีโอกาสหยุดพักใด ๆ หลังจากเกิดขึ้นมาแล้ว พลังงานที่ได้ก็มาจากหลอดเลือดแดงของหัวใจ หลอดเลือดแดงของหัวใจนี้แยกออกจากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เป็นส่วนที่หัวใจส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายทั้งหมดที่เรียกว่า Aorta และกระจายครอบหัวใจไว้ พร้อมทั้งส่งแขนงต่าง ๆ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ คล้ายกับเป็นมงกุฎที่ครอบลงไปในหัวใจ จนได้ชื่อว่าหลอดเลือดมงกุฎ (Coronary artery) คล้ายกับชาวนาไทยที่ส่งข้าวไปเลี้ยงคนทั้งประเทศ แต่ตนเองอาจมีข้าวที่เลี้ยงตัวเองน้อยนิด
จากหลอดเลือดมงกุฎ ซึ่งแยกเป็นซ้าย ขวา ขนาดก็ประมาณหลอดกาแฟ 3 – 4.5 มิลลิเมตร แตกต่างจากการได้รับพลังงานของสัตว์ชนิดอื่น เช่น พวกสัตว์เลื้อยคลานจะได้รับพลังงานโดยตรงจากเลือดทั้งหมดที่มีอยู่ในห้องของหัวใจ (สัตว์เลื้อยคลานไม่มีหลอดเลือดมงกุฎสำหรับเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) เมื่อหลอดเลือดมงกุฎแคบลง ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจน (O2) ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดอาการ เช่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกเมื่อออกกำลังกายหรือเกิดความเครียด หรือจากการใช้ยา หรือสาร กระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดภาวะหัวใจวายหรือการเสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้
สาเหตุ ที่ทำให้หลอดหัวใจตีบตันเร็วขึ้น มีสาเหตุแบ่งเป็น สาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ ดังนี้
- สาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุ พันธุกรรม เพศ ซึ่งเพศหญิงจะพบน้อยกว่าเพศชาย หรือพบในอายุที่มากกว่าเพศชาย
- สาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น ไขมันในเลือดผิดปกติ เบาหวานที่ควบคุมได้ดี แรงดันโลหิตสูงที่รักษาให้ ถูกต้องและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอ การไม่ให้น้ำหนักตัวที่เกินค่ามาตรฐาน BMI โดยทั่วไป BMI ของคนปกติอยู่ที่ 19 – 25 ในผู้ชาย และ 17-23 ในผู้หญิง การไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ (Second hand smoker)
การรักษา การรักษาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันอย่าให้เกิดเร็ว โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาแล้ว หรือถ้ามีความสงสัยควรตรวจ Check ร่างกายโดยแพทย์ เพื่อที่จะได้ทราบว่าท่านเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือยัง ซึ่งแพทย์จะมีวิธีการตรวจจนได้คำตอบว่าเป็นโรคนี้หรือไม่
การรักษาโดยทั่วไป แพทย์ก็ทำการรักษาโดยให้ยาเพื่อชะลอการเกิดหลอดเลือดตีบตันมากขึ้น โดยรักษาที่ต้นเหตุของการเกิด ให้ยาขยายหลอดเลือด ให้ยาที่บังคับไม่ให้หัวใจทำงานหนัก หรือเพิ่มขนาดหลอดเลือด โดยการขยายด้วยบอลลูน และใส่ขดลวด (Balloon angioplasty + stent) หรือทำการต่อหลอดเลือดที่ตีบตันให้ใหม่ (Coronary Artery Bypass Graft) เพื่อทำให้อายุของท่านยืนยาวขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงดังกล่าว ถ้าได้ทราบตั้งแต่ต้น ๆ ว่าท่านมีโรคนี้อยู่ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าหาปมของโรคนี้หรือยัง ซึ่งวิทยาการสมัยใหม่อาจจะไม่ต้องไปถึงการฉีดสี (Coronary Angiography) เราอาจจะใช้เครื่องมือที่ไม่ต้องทำให้บาดเจ็บ เช่น Coronary Calcium Score คือ การตรวจหาค่าของ Calcium ที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ
- Exercise Stress test คือ การออกกำลังกายพร้อมการดูการเปลี่ยนแปลงของสภาพหัวใจ
- Stress echocardiography คือ การดูการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ก่อนและเมื่อออกแรง
- Magnetic resonance cardiac imaging คือ การใช้คลื่นแม่เหล็กของหลอดเลือดหัวใจและดูการทำงานของหัวใจ ดูการส่งเลือดเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
ซึ่งจะได้ข้อมูลสำหรับหลอดเลือดหัวใจเป็นแนวทางในการรักษาตั้งแต่ต้นๆ และเป็นการวางแผนเผื่อ ต้องไปทำที่เรียกว่า Invasive Investigation คือ การสวนหัวใจ
ส่วนการรักษา เราแบ่งเป็น 2 ระดับ
- การใช้ยาเพื่อควบคุม การเต้นของหัวใจ การให้ยาต้านเกล็ดเลือด, การให้ยาลดความดัน, การรักษาเบาหวานให้มีประสิทธิภาพดี, การให้ยาลดไขมันในเลือด
- การรักษาแบบ Intervention โดยกาแทรกหลอดเลือดเดิม
- การรักษาโดยใช้ Balloon ให้ไปถ่างหลอดเลือดและใส่ขดลวด (Stent)
- การทำสะพานเชื่อมเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนที่ต่อจากหลอดเลือดตีบ ที่เรียกว่า Coronary Artery Bypass Graft