จอประสาทตา เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญที่ช่วยในการมองเห็น และมีโรคทางจอประสาทตาค่อนข้างมาก ซึ่งต้องอาศัยการผ่าตัดรักษาจอประสาทตาด้วยวิธีผ่าตัดน้ำวุ้นตา
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดจอประสาทตา
- เป็นโรคจอประสาทตาฉีกขาดหลุดลอก
- โรคจอประสาทตาลอกจากพังผืดดึงรั้ง เช่น ในคนที่เป็นเบาหวานขึ้นจอตา
- จุดรับภาพที่จอประสาทตาเป็นรู (Macular hole)
- พังผืดที่จุดรับภาพ
- เลือดออกในน้ำวุ้นตา
- มีการติดเชื้อในลูกตาและน้ำวุ้นตา หรือการอักเสบในน้ำวุ้นตา
- มีสิ่งแปลกปลอมในลูกตาส่วนหลังจากอุบัติเหตุ เช่น เศษเหล็ก เศษแก้ว
- เลนส์ตาหรือเลนส์แก้วตาเทียมเคลื่อนไปลูกตาส่วนหลัง
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- ทานยารักษาโรคประจำตัวของตนเองได้ตามปกติ ยกเว้นยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน หรือยาที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดอื่นๆ ต้องงดก่อนผ่าตัด 7 วันหรือตามแพทย์สั่ง
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่พยาบาลหรือแพทย์เจ้าของไข้ทราบก่อนผ่าตัด
- ควรสระผมให้สะอาดก่อนวันผ่าตัด
- ในวันที่ผ่าตัด ให้ล้างหน้า และห้ามทาครีมหรือโลชั่นที่ใบหน้า ห้ามใช้เจลทาผม และให้ถอดเครื่องประดับทุกชนิด และฟันปลอมก่อนเข้าห้องผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะได้รับการทำความสะอาดในตาข้างที่จะผ่าตัด โดยการเช็ดตาและหยอดยาขยายม่านตา
- ถ้าการได้ยินไม่ดี ควรนำเครื่องช่วยฟังเข้าห้องผ่าตัดด้วย
- ถ้าปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ควรใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเข้าห้องผ่าตัด (กรณีผ่าตัดแบบไม่ดมยาสลบ)
- ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ดมยาสลบ การระงับความรู้สึกเฉพาะที่จะใช้ยาชาฉีดเข้าไปด้านหลังลูกตา โดยผู้ป่วย สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่หากผู้ป่วยที่ต้องดมยาสลบ ให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด หรือตามแพทย์สั่ง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันผ่าตัด
การผ่าตัดจอประสาทตา มีความเสี่ยงหรือไม่ ?
ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดจอประสาทตา สามารถลดโอกาสการเกิดขึ้นโดยการปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ความดันลูกตาสูงหรือต่ำผิดปกติ หลังผ่าตัด
- เกิดต้อกระจกหลังผ่าตัด
- จอประสาทตาหลุดลอกซ้ำ
- เลนส์แก้วตาเทียมเคลื่อน
- ลูกตาติดเชื้อหลังผ่าตัด
- เลือดออกในวุ้นตา
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
- ควรปิดที่ครอบตาเสมอ ยกเว้นเวลาหยอดตาหรือทำความสะอาดตา
- ในกรณีที่มีการฉีดแก๊สหรือน้ำมันซิลิโคนเข้าไปในช่องน้ำวุ้นตา ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในท่านอนคว่ำ หรือนั่งก้มหน้า อย่างน้อย 16-18 ชั่วโมงต่อวัน หรือตามคำสั่งการรักษาของแพทย์
- กรณีฉีดแก๊สเข้าไปในช่องวุ้นตานั้น แก๊สจะค่อยๆ สลายตัวจนหายไป ภายใน 2-6 สัปดาห์ ขึ้นกับชนิด และความเข้มของแก๊ส
- กรณีใส่น้ำมันซิลิโคนเข้าไปในช่องน้ำวุ้นตา ต้องมีการผ่าตัดซ้ำ เพื่อนำเอาน้ำมันซิลิโคนออกแต่ในบางราย แพทย์อาจพิจารณาปล่อยทิ้งไว้ในลูกตา แล้วแต่ภาวะโรคของผู้ป่วย
- การดูแลรักษาและทำความสะอาดตา
- การเช็ดทำความสะอาดตาให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือ ที่ได้รับจาก รพ.เช็ดบริเวณรอบดวงตา ห้ามกดลูกตามหรือเช็ดในลูกตาเด็ดขาด และก่อนเช็ดให้ล้างมือได้สะอาดทุกครั้ง ห้ามทาครีมหรือโลชั่นที่หน้า
* การครอบตา ทาง รพ.จะมีที่ครอบตาให้ผู้ป่วยภายหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันการกระแทกหรือเผลอขยี้ตา โดยให้ครอบทุกครั้งในตอนนอน สำหรับการทำความสะอาดที่ครอบตา ให้ล้างที่ครอบตาด้วยน้ำสบู่ให้สะอาด หรือใช้น้ำเกลือที่เช็ดตานำมาเช็ดที่ครอบตา แล้วเช็ดให้แห้งด้วยสำลีหรือผ้าสะอาด ก่อนนำมาใช้งาน ควรเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละครั้ง ส่วนในเวลากลางวัน ผู้ป่วยอาจใส่แว่น แทนการใส่ที่ครอบตาได้
- การหยอดยา ก่อนหยอดยาที่ตาผู้ป่วยทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด ให้ผู้ป่วยเอนตัวไปด้านหลังเหลือบตามองขึ้นบนให้ตึงเปลือกตาล่างและหยอดยา โดยยาแต่ละตัว ควรหยอดห่างกัน 5-10 นาทีหากเป็นยาป้ายหรือขี้ผึ้ง ควรใช้หลังสุด และไม่ควรใช้ยาเกิน 1 เดือนหลังเปิดขวดยา
- การอาบน้ำในหนึ่งเดือนแรก ผู้ป่วยควรมีความระมัดระวังขณะอาบน้ำ โดยระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตา
- การดูแลเรื่องอาหาร ผู้ป่วยสามารถทานอาหารได้ตามปกติ หรือควบคุมอาหารตามโรคประจำตัวเดิมที่มีอยู่
- ในกรณีที่มีการหยุดยาละลายลิ่มเลือดหรือยาที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดอื่นๆ ก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัดวันแรกสามารถกลับมาทานยาได้ตามปกติ
- การทำงานในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังผ่าตัด ไม่ควรทำงานหนัก เช่น การยกของ แบกหาม การก้มศีรษะมากๆ การเบ่งไอจามแรงๆ
- การออกกำลังกาย ผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่น้ำมันซิลิโคนหรือแก๊สสามารถที่จะออกกำลังกายเบาๆ ได้ เช่น การเดิน แต่ไม่ควรวิ่ง ยกน้ำหนัก หรือว่ายน้ำ ส่วนในผู้ป่วยที่ใส่น้ำมันชิโคนหรือแก๊ส ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- ในกรณีที่ผู้ป่วยใส่แก๊สไว้ในตา ไม่ควรเดินทางด้วยเครื่องบิน หรือขึ้นภูเขาสูงหลังผ่าตัด จนกว่าแก๊สจะหมดเพราะการขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็ว จะทำให้แก๊สขยายตัว ทำให้ตามัว ปวดตามาก หรือเกิดเส้นเลือดในจอประสาทตาขาดเลือดได้ และหลังการผ่าตัดใส่แก๊สในตา ถ้าจำเป็นต้องได้รับการดมยาสลบ (ในการทำผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่นๆ) ต้องแจ้งวิสัญญีแพทย์ทุกครั้งว่ามีแก๊สในตา
- ควรมาพบแพทย์ที่ทำการรักษาตามนัด
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลโดย
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
เวลาทำการ : ตรวจรักษาและดูแลดวงตา ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร : 02-022-7644