ประจำเดือนมาไม่ปกติ อ้วนลงพุง มีบุตรยาก เสี่ยงเบาหวาน โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน ในมุมมองของสูตินรีแพทย์ คือโรคที่เกิดจากการมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งวินิจฉัยจาก
การคำนวณดัชนีมวลกาย
ผลที่ได้สำหรับเกณฑ์ของคนเอเชียถ้าค่า BMI มากกว่า23 จะจัดอยู่กลุ่มภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรืออาจเกินไปจนถึงขั้นจัดอยู่ในกลุ่มของคนที่เป็นโรคอ้วนโดยไม่ทันตั้งตัว อีกวิธีใช้การวัดเส้นรอบเอว หรือใช้เครื่อง Dexa Scan ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์ของไขมันในร่างกาย โรคอ้วนก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาเช่น โรค Metabolic Syndrome, โรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ, โรคไขมันเกาะตับ, โรคกรดไหลย้อน, โรคซึมเศร้า, จะเห็นได้ว่าโรคที่เกี่ยวเนื่องกับโรคอ้วนพบได้กับทุกๆ อวัยวะของร่างกาย คนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสม
การดูแลรักษาภาวะน้ำหนักเกินตัว หรือโรคอ้วนนั้นอิงตามเกณฑ์ของ BMI เกินกว่า 30 หรือภาวะน้ำหนักตัวเกินที่มี BMI มากกว่า 27 และมีโรคอื่นร่วมด้วยอาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาในการรักษา ในส่วนของกรณีที่ค่า BMI น้อยกว่านั้น แต่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวเกินอาจใช้วิธีควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยาที่ใช้รักษาภาวะโรคอ้วนที่ผ่าน อย. ของประเทศไทยมีอยู่ 2 ตัว หลักๆซึ่งแตกต่างกันที่การออกฤทธิ์ การใช้ยาไปจนถึงประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยจึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
ภาวะน้ำหนักตัวเกินที่สัมพันธ์กับโรคทางสูตินรีเวชที่พบบ่อยคือโรค PCOS หรือว่า ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ผู้ป่วยมีภาวะประจำเดือนมาผิดปกติ มีบุตรยาก อ้วนลงพุง แต่ถ้าเราลดน้ำหนักตัวของคนไข้ได้ตั้งแต่ 5%-10% ขึ้นไป คนไข้บางคนก็สามารถหายจากโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ หากท่านมีข้อสงสัยหรือประสบภาวะน้ำหนักตัวเกิน ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อทำการรักษาและกลับมามีน้ำหนักตัวตามปรารถนาได้