“วัคซีนภูมิแพ้ (IMMUNOTHERAPY)” อีกหนึ่งทางออกของคนเป็น “โรคภูมิแพ้”
“วัคซีนภูมิแพ้” สามารถให้ในผู้ใหญ่และเด็กในอายุ 5 ปีเป็นต้นไป
การให้วัคซีนภูมิแพ้ คือการให้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปสู่ร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อยและปรับเพิ่มปริมาณขึ้นจนถึงขนาดที่ใช้ในการรักษา โดยให้ซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ลดลงและร่างกายทนต่อสารก่อภูมิแพ้ได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการหรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ลดลงเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น
“ในช่วงระยะเวลา 20-30 ปี ที่ผ่านมาอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้
มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย”
ขั้นตอนและระยะเวลาการรับวัคซีนภูมิแพ้
ระยะเริ่มต้นให้วัคซีนภูมิแพ้ โดยเริ่มจากขนาดความเข้มข้นต่ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หลังจากนั้นจะเว้นห่างออกเป็นทุก 2 สัปดาห์ 3 สัปดาห์ และเดือนละครั้ง รวมทั้งสิ้น 3-5 ปี ซึ่งการปรับเพิ่มขนาดความเข้มข้นขึ้นจนถึงขนาดที่ใช้ในการรักษา โดยการปรับเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้ ได้แก่ ความไวของผู้ป่วยต่อวัคซีนภูมิแพ้ ประวัติการเกิดอาการแพ้หลังได้รับวัคซีนครั้งก่อน เป็นต้น
การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้เหมาะกับใคร
- ผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)
โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis)
โรคหืดจากภูมิแพ้ (Allergic Asthma)
โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) - ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมอาการแพ้ได้ด้วยยา หรือได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- ผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้
การรักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ได้ผลดีเพียงใด?
70-80% ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะเริ่มเห็นผล เมื่อฉีดวัคซีนไปได้ประมาณ 4-6 เดือน
- สามารถป้องกันโรคหอบหืดในผู้ป่วยภูมิแพ้จมูกอักเสบ
- มีอาการลดลง
- ลดการใช้ยาลงได้
- ป้องกันการแพ้สารชนิดใหม่
- คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ข้อปฏิบัติที่สำคัญก่อนการฉีดวัคซีน
- งดออกกำลังกายก่อนฉีดอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้สารก่อภูมิแพ้ดูดซึมได้เร็วเกินไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด ควรใช้ยาคุมอาการให้ดีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนภูมิแพ้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไตหรือโรคหัวใจ ที่จำเป็นต้องใช้ยาที่เกี่ยวข้อง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
- แจ้งแพทย์ให้ทราบ ในกรณีที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
- สามารถรับประทานยาที่ทานอยู่เป็นประจำตามแพทย์สั่งได้ เช่น ยาแก้หอบหืด หรือยาแก้แพ้ ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง
ข้อปฏิบัติที่สำคัญหลังการฉีดวัคซีน
- หลังการรับวัคซีนผู้ป่วยควรนั่งพักอย่างน้อย 30 นาที เพื่อสังเกตอาการแพ้ เช่น ตัวแดง หายใจลำบาก เป็นต้น
- ห้ามออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก หลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
- หลังการฉีด 24 ชั่วโมง ให้สังเกตอาการบวมหรือผื่นแดงที่ฉีดพร้อมบันทึกไว้ และก่อนการฉีดวัคซีนทุกครั้งควรรายงานแพทย์ว่ามีอาการบวม แดงบริเวณที่ฉีดครั้งที่แล้วหรือไม่? ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ได้
- ผู้ป่วยควรดูแลรักษาสุขภาพทั่วไปให้ดี โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานได้ดี ภายหลังได้รับการกระตุ้นจากวัคซีน ซึ่งจะทำให้อาการโรคภูมิแพ้ดีขึ้นได้มากและเร็ว ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้แล้ว ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะการฉีดวัคซีนอาจไม่ได้ทำให้ภูมิแพ้หายขาดได้อย่างสิ้นเชิง
บทความโดย
นพ.ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์
กุมารแพทย์และแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้