ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของมนุษย์ ก็คือ โรคหัวใจ ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด ยิ่งในยุคสมัยนี้ การดำรงชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่จะทำงานนั่งโต๊ะ ขาดการออกกำลังกาย กินอาหารจานด่วน บางคนก็อ้วนพุงโต เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงทั้งสิ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆก็เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตั้งแต่อายุน้อย ถ้าผู้ใดมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมองตีบก็จะสูงไปด้วย นอกจากนี้ อายุที่มากขึ้นก็จะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายตีบมากขึ้นด้วย
ปัจจัยเสี่ยง (risk factors)
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้
- อายุที่มากขึ้น
- เพศชาย
- ประวัติของโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้
- เบาหวาน
- การสูบบุหรี่
- ไขมันในเลือดสูง
- ความดันโลหิตสูง
- อ้วนลงพุง
- ความเครียด
อาการแสดง
อาการที่ชวนสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็คือ อาการเจ็บแน่น เหมือนมีของหนักๆมาทับ ที่หน้าอกด้านซ้าย หรือตรงกลางหน้าอก อาการเจ็บอาจร้าวไปที่แขนซ้าย กรามหรือคอด้านซ้าย และมักจะมีอาการขณะออกแรง หยุดพักแล้วดีขึ้น หรืออมยาขยายหลอดเลือดหัวใจแล้วดีขึ้น แต่ในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจจะไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก แต่จะมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติเวลาออกแรง เพราะเส้นประสาทรับความรู้สึกของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักจะผิดปกติ โดยเฉพาะถ้าเป็นเบาหวานอยู่เป็นเวลานาน และระดับน้ำตาลในเลือดควบคุมได้ไม่ดี
การตรวจวินิจฉัย ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงข้างต้น
วิธีการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้แก่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography)
- การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะเดินสายพาน (Exercise Stress Test)
- การตรวจดูการบีบตัวของหัวใจ ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยใช้สารเภสัชรังสี
- การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (MDCT), หรือเครื่อง MRI
- การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram)
ส่วนจะตรวจด้วยวิธีใดนั้น คงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ แล้วเลือกตรวจด้วยวิธีต่างๆที่กล่าวมาตามข้อบ่งชี้
การรักษา
หลังจากการตรวจสอบเพิ่มเติมจนทราบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแน่ชัดแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการรักษา ซึ่งแบ่งได้เป็น วิธีใหญ่ๆ คือ
- ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (Lifestyle)
- ใช้ยากิน ซึ่งได้แก่ ยาแอสไพริน (ยับยั้งการทำหน้าที่ของเกล็ดเลือด), ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ, ยาลดไขมันในเลือด, ยารักษาความดันโลหิตสูง และยารักษาเบาหวาน (ถ้าเป็นร่วมด้วย)
- การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน และการใส่ขดลวด (PTCA)
- การผ่าตัด by pass หลอดเลือดหัวใจ โดยใช้หลอดเลือดแดงในช่องอก(Internal mammary artery) หรือหลอดเลือดดำที่ขา ของผู้ป่วยเอง
- การใช้เซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) การรักษาด้วยวิธีนี้คงเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วยังไม่ดีขึ้น
การรักษาวิธีที่ 2 คือการใช้ยานั้น จะเป็นการรักษาหลัก นั่นคือถึงแม้จะขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (PTCA) หรือการผ่าตัด by pass แล้ว ก็ยังคงต้องกินยาต่อเนืองไปด้วย และจะต้องกินยาตลอดไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ขณะที่ได้รับการรักษาอยู่นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องแก้ไข หรือรักษาปัจจัยที่ส่งเสริมภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ นั่นคือ ต้องหยุดสูบบุหรี่ รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดให้ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที ลดความอ้วน เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว กล้ามเนื้อหัวใจของคุณก็จะลดความเสี่ยงต่อภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงได้