Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

วัคซีน…น่ารู้

           จากสภาวะโลกในปัจจุบัน ภาวะโลกร้อน การคมนาคมที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของโลกให้ใกล้กันในชั่วพริบตา มีส่วนทำให้การกระจายของโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มขึ้น รวดเร็วขึ้น แพร่กระจายเป็นวงกว้างขึ้นเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 รวมถึงเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ระบาดอยู่ในช่วงนี้ โรคติดเชื้อหลายชนิดป้องกันได้ด้วยวัคซีน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กๆ ทั่วโลกควรได้รับวัคซีน เด็กไทยทุกคนก็เช่นเดียวกัน ควรได้รับวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิต้านทานโรคโดยมีการกำหนดวัคซีนพื้นฐานจากภาครัฐอันได้แก่ วัคซีนบีซีจี วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี โดยสามารถขอรับบริการได้จากโรงพยาบาลภาครัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีวัคซีนทางเลือกอีกหลายชนิดที่ผู้ปกครองสามารถเสริมให้กับบุตรหลานของท่านได้เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นๆ ป้องกันการเกิดโรคเมื่อได้รับเชื้อหรือลดความรุนแรงในการเกิดโรคได้ อาทิเช่น วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น วัคซีนฮิบ วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต วัคซีนโรต้า วัคซีนเอชพีวี

           บทความนี้ใคร่ขอนำเสนอรายละเอียดของวัคซีนอีสุกอีใส เพื่อให้ท่านผู้ปกครองเป็นข้อมูลพิจารณาเสริมกับบุตรหลานของท่าน เนื่องจากอีสุกอีใสเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส คืออะไร และป้องกันได้อย่างไร

  • โรคอีสุกอีใส เป็นไข้ออกผื่นซึ่งพบบ่อยในเด็ก อาการมักไม่รุนแรง แต่บางครั้งอีสุกอีใสอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกอายุน้อย ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องในวัยรุ่นหรือในผู้ใหญ่
  • อาการทั่วไปของโรคคือไข้ ผื่นแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มใส แล้วจึงค่อยตกสะเก็ด คัน และอ่อนเพลีย บางครั้งผื่นที่ผิวหนังอาจลุกลามอักเสบรุนแรง ซึ่งอาจเป็นแผลเป็นได้ บางรายอาจเกิดปอดบวมหรือก่ออาการสมองอักเสบได้
  • โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนโดยละอองฝอยจากลำคอ หรือสัมผัสกับตุ่มใสบนผิวหนังโดยตรง

วัคซีนป้องกันโรค อีสุกอีใส คืออะไร

  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ทำมาจากเชื้ออีสุกอีใสที่อ่อนฤทธิ์ ไม่ก่อโรคอีสุกอีใสแต่สร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้ดี
  • หลังจากฉีดวัคซีนแล้วผู้รับวัคซีนบางคนยังอาจเป็นโรคอีสุกอีใสได้อีก แต่จำนวนเม็ดผื่นจะน้อยไม่ค่อยมีไข้ และอาการทั้งหมดจะทุเลาเร็วกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรค อีสุกอีใส และจะต้องให้กี่ครั้ง อย่างไร

  • เด็กซึ่งยังไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรพิจารณาให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส 2 ครั้ง
  • ครั้งแรก-แนะนำให้ฉีดเมื่ออายุประมาณ 12-18 เดือน ครั้งที่สองเมื่ออายุ 2-4 ปี หรือห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  • วัยรุ่นอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์
  • วัคซีนชนิดนี้ปลอดภัยและให้ผลดีต่อผู้รับมากกว่าการปล่อยให้เป็นอีสุกอีใสตามธรรมชาติมาก
  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสฉีดแล้วอาจมีปฏิกิริยาต่างๆ ได้เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด,ไข้ต่ำๆ ,อาจมีผื่น (มักไม่เกิน 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน) อาการข้างเคียงรุนแรงเช่น สมองอักเสบ,ชัก พบได้น้อยมาก

มีสิ่งที่ต้องปฏิบัติอื่นๆ หรือไม่

  • ถ้าเด็กเป็นโรคอีสุกอีใสควรรักษาความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะต้องหมั่นล้างมือฟอกสบู่เสมอ ตัดเล็บให้สั้น ไม่ควรให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสไปโรงเรียน หรือเข้าที่ชุมชนจนกว่าแผลจะตกสะเก็ด และแจ้งให้คุณครูประกาศให้ผู้ปกครองและเพื่อนในห้องทราบ เพราะโรคอีสุกอีใสอาจก่ออันตรายรุนแรงแก่เพื่อนร่วมชั้นเรียนผู้ซึ่งมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงได้
  • ในบางครั้งโรคอีสุกอีใสอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ ดังนั้นหากเด็กเป็นโรคอีสุกอีใส และมีอาการไข้สูง ซึม ตุ่มใสกลายเป็นแผลติดเชื้อ ควรรีบนำมาพบแพทย์
2020-09-09T09:38:32+00:00