ใครจะคิดว่าปัจจุบันสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยสูงอายุเสียชีวิตลำดับต้นๆ จะเป็นจากกระดูกสะโพกหัก และสาเหตุหลักที่ทำให้กระดูกสะโพกในผู้สูงอายุหักมาจากภาวะกระดูกพรุน
ภาวะกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกพรุน คือโรคที่มวลของเนื้อกระดูกลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูก ซึ่งมีผลทำให้กระดูกรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้น้อยกว่าปกติ ทำให้เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักตามมา โดยเฉพาะกระดูกสะโพก กระดูกสันหลังและกระดูกบริเวณข้อมือ
ปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดปัญหากระดูกพรุน หรือ Osteoporosis ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยจะพบปัญหาในหญิงมากกว่าชาย เพราะในหญิงจะมีการลดลงของมวลกระดูกเป็นอย่างมากในช่วง 5 ปี หลังวัยหมดประจำเดือน สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน นอกจากวัยและเพศแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายทั้งยา อาหารและสารเคมี ซึ่งสามารถกล่าวรวมๆ ได้ว่าเกิดจากการสะสมของมวลกระดูกได้น้อย หรือการสูญเสียมากกว่าปกติ สรุปได้ดังตารางข้างล่างนี้
อันตราย ….. ! เพราะไม่มีอาการ ปัจจัยต่างๆ ข้างต้นนี้ หลายปัจจัยสามารถหลีกเลี่ยงได้ และเนื่องจากกระดูกพรุนไม่มีอาการ ไม่มีความเจ็บปวด เราจะรู้ว่ากระดูกเราพรุนก็มักจะสายเสียแล้ว เพราะส่วนใหญ่จะมาด้วยกระดูกสะโพกหักหรือกระดูกสันหลังยุบ ดังนั้นหากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
ข้อแนะนำ
โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ ถ้าเราให้ความสนใจดูแลรักษาสุขภาพ โดย
- รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เพราะร่างกายต้องการแร่ธาตุที่สำคัญเพื่อมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หรือเติมเต็มสิ่งที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ร่างกายจึงควรได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และในสัดส่วนที่พอเหมาะ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่าเอาแต่นั่งๆ นอนๆ เพราะจะมีการสลายของกระดูกมากขึ้น อย่างน้อง 15-20 นาทีเป็นประจำทุกวัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
- ได้มีการประเมินสภาวะของกระดูกว่ามีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากน้อยเพียงใด ตั้งแต่ช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน เป็นต้นไป
- ในหญิงที่มีความหนาแน่นของกระดูกน้อย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับฮอร์โมนทดแทน หากไม่มีข้อห้ามใช้
- ถ้ามีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนช่วย ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีอื่นที่เหมาะสมแทน
- ให้มีความระมัดระวังในการเคลื่อนไหว และดูแลสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย เพื่อลดการลื่นหกล้ม
รู้แล้ว………อย่านิ่งเฉย ป้องกันเสีย………ก่อนจะสาย!!!