จอตา คือ เนื้อเยื่อพิเศษที่ทำหน้าที่เป็นจอรับภาพ และรับแสงอยู่ที่ผนังชั้นในสุดของตา ประกอบด้วยเซลล์รับภาพเป็นล้านๆ ตัว เพื่อทำหน้าที่รับภาพแล้วส่งภาพผ่านเส้นประสาทตาเข้าไปแปรผลที่สมอง โดยปกติแล้วตอนอายุน้อยจอตาทำหน้าที่รับภาพได้ดี แต่เมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เซลล์รับภาพจะเริ่มเสื่อมลงหรือถูกทำลายไปเอง โดยเฉพาะกลุ่มเซลล์รับภาพตรงศูนย์กลางจอตา ทำให้ค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการมองเห็นตรงส่วนกลางภาพไปเกิดอาการมองภาพไม่ชัด เห็นภาพบิดเบี้ยวไป หรือมีเงาดำบังอยู่ตรงกลางภาพ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มีอะไรบ้าง
- มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- การสูบบุหรี่
- มีโรคความดันโลหิตสูง
- มีระดับไขมันในเลือดสูง
- มีประวัติของบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
- มีการใช้สายตาที่ต้องเผชิญกับแสงแดดเป็นเวลานานๆ
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนทดแทน
มีวิธีสังเกตอาการตนเองว่าอาจเป็นโรคนี้ ทำอย่างไร?
จักษุแพทย์แนะนำให้ใช้ตารางแอมสเลอร์ (Amsler Grid)โดยปิดตาทีละข้าง แล้วใช้อีกข้างมองจุดดำเล็กๆ กลางภาพ ถ้ามองเห็นตารางบิดเบี้ยวไป หรือมีเงาดำบดบังตรงกลาง แสดงว่า อาจมีโรคจอตาเสื่อมตามอายุเกิดขึ้นแล้ว
มีวิธีการดูแลรักษาเมื่อพบว่าเป็นโรคจอตาเสื่อมตามอายุ
การรักษาควรทำโดยจักษุแพทย์ โดยจุดประสงค์การรักษาคือ การยับยั้ง หรือชะลอการสูญเสียสายตา ยืดอายุการใช้งานสายตาไปให้นานที่สุด เพราะโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าเกิดเป็นโรคจอตอเสื่อมชนิดเปียก (ชนิดที่มีเส้นเลือดแตกรั่ว) วิธีการรักษาหลายวิธี คือ การฉีดยาเข้าวุ้นตา การใช้แสงเลเซอร์ที่เกิดความร้อน หรือการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำร่วมกับการใช้เลเซอร์พลังงานต่ำหรือเลเซอร์เย็น โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้แนะนำแนวทางรักษาที่เหมาะสมให้แก่ท่าน ข้อสำคัญคือการหมั่นสังเกตตัวเอง และตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ หากอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อเกิดโรคนี้ขึ้น จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที
ผู้เขียน : นายแพทย์อดิศัย วราดิศัย
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลโดย
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
เวลาทำการ : ตรวจรักษาและดูแลดวงตา ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร : 02-022-7644