โรคตาแห้ง (Dry eye)
- โดยปกติแล้วคนเราจะผลิตน้ำตาออกมาหล่อเลี้ยงผิวตา (เยื่อบุตาขาวและกระจกตา) เพื่อช่วยเคลือบผิวตาทำให้มีการมองเห็นชัดเจน, ไม่ฝืดตาเวลากะพริบ, ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อผิวตาและยังมีสารช่วยต้านทานการติดเชื้อต่อผิวตา
- ส่วนประกอบของน้ำตาที่ปกตินั้นมี 3 ชั้นด้วยกันได้แก่
- ชั้นในสุดประกอบด้วยสาร mucin ซึ่งสามารถทำให้น้ำตากระจายตัวเคลือบผิวตาได้ดี ผลิตจากเซลล์ที่อยู่บนเยื่อบุตาขาวและกระจกตา
- ชั้นกลางประกอบด้วยน้ำเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีแร่ธาตุ, สารอาหารบางชนิดและสารต้านทานการติดเชื้อต่อผิวตา โดยในภาวะปกติจะผลิตจากต่อมน้ำตาเล็กๆ ซึ่งอยู่ในเยื่อบุตาและเมื่อมีการกระตุ้นเช่น เมื่อเจ็บปวด เสียใจ ดีใจ จะผลิตจากต่อมน้ำตาใหญ่ซึ่งอยู่บริเวณหางคิ้วใต้ต่อกระดูกเบ้าตา
- ชั้นนอกสุดประกอบด้วยไขมันซึ่งจะช่วยเคลือบไม่ให้น้ำระเหยเร็วเกินไป ผลิตจากต่อมไขมันที่เปลือกตาโดยพบว่าฮอร์โมนเพศ (androgen estrogen) และเส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวตามีผลในการหลั่งของน้ำตาด้วย
- หลังจากที่น้ำตาถูกผลิตและหลั่งออกมาแล้วจะต้องอาศัยการกะพริบตา เพื่อช่วยให้น้ำตากระจายทั่วผิวตา และสามารถไหลระบายออกสู่ท่อน้ำตาเล็กซึ่งอยู่บริเวณหัวตาบนล่าง และออกสู่โพรงจมูกในที่สุด
- น้ำตาที่เป็นปกตินั้นจะต้องปกติทั้งปริมาณ, คุณภาพ (ส่วนประกอบของน้ำตาต้องปกติ) มีการกระจายทั่วผิวตาและระบายออกเป็นปกติ ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งผิดปกติจะทำให้เกิดปัญหาได้
- ดังนั้นตาแห้งคือภาวะที่มีน้ำตามีปริมาณลดลง, คุณภาพของน้ำตาเสื่อมลงหรือมีการกระจายตัวของน้ำตาไม่ทั่วผิวตา ทำให้ผิวตาถูกทำลายทำให้เกิดอาการของโรคตาแห้งขึ้น
- การใช้น้ำตาเทียม น้ำตาเทียมจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำตาและเคลือบผิวตาให้ชุ่มชื้นได้นานขึ้น หยอดบ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของตาแห้ง น้ำตาเทียมในปัจจุบันมีทั้งชนิดเป็นน้ำ และชนิดเป็นเจล หรือ ขี้ผึ้ง ซึ่งมีทั้งชนิดที่มีสารกันเสีย (preservative) หรือไม่มีสารกันเสีย คือหยอดแล้วตาไม่มัว แต่ถ้าตาแห้งมากจะต้องหยอดถี่มากเนื่องจากอยู่เคลือบตาได้ไม่นาน ส่วนชนิดที่เป็นเจลหรือขี้ผึ้งข้อดีคือ อยู่เคลือบตาได้นาน ใช้ได้โดยไม่ต้องป้ายถี่มาก แต่ข้อเสียคือทำให้ตามัว เนื่องจากหนืดมากกว่า ส่วนข้อดีของการมีสารกันเสียคือจะบรรจุในขวดหรือหลอดยาขนาดใหญ่จึงพกพาสะดวก เมื่อเปิดใช้แล้วสามารถเก็บได้นานเป็นเวลา 1 เดือน ไม่ต้องเปลี่ยนขวดหรือหลอดใหม่ แต่ข้อเสียคือหยอดได้ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง เนื่องจากสารกันเสียมีผลเสียต่อผิวตาถ้าหยอดถี่เกินไป ดังนั้นจึงควรใช้ในกรณีตาแห้งไม่มาก สำหรับน้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย ข้อดีสามารถหยอดได้ถี่เท่าที่ต้องการ แต่ข้อเสียคือยาจะอยู่ในหลอดบรรจุขนาดเล็กพกพาไม่ค่อยสะดวก ซึ่งเมื่อเปิดใช้แล้วต้องทิ้งภายใน 12 ชั่วโมง มิฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของโรคได้
- การใช้ยาลดการอักเสบ บางครั้งตาแห้งเกิดจากผิวตาที่อักเสบ หรือตาแห้งเอง ทำให้เกิดผิวตาอักเสบตามมา ดังนั้นอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตากลุ่ม steroid หรือ cyclosporin เพื่อช่วยลดการอักเสบร่วมด้วย นอกจากนี้กรณีมีต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบอาจจะต้องใช้ยารับประทานช่วยด้วย
- การผ่าตัด ได้แก่ การอุดท่อน้ำตา การผ่าตัดเปลือกตา
- การอุดท่อน้ำตา เป็นการอุดรูเปิดของท่อน้ำตาบริเวณหัวตาบนล่าง เพื่อกักน้ำตาให้คงอยู่ที่ผิวตานานขึ้น จะทำให้กรณีที่ตาแห้งจากปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอและใช้น้ำตาเทียมยังได้ผลไม่ดี โดยการอุดท่อน้ำตานี้มีทั้งแบบชั่วคราวและถาวรขึ้นกับสาเหตุของตาแห้งนั้น การอุดท่อน้ำตาชั่วคราว อาจใช้เป็นแท่งซิลิโคนคอลลาเจนหรือเส้นไหมขนาดเล็กอุดที่รูเปิดท่อน้ำตา โดยซิลิโคนหรือคอลลาเจนนี้สลายไปเองภายในสัปดาห์หรือเป็นเดือนแล้วแต่ชนิด ส่วนการอุดท่อน้ำตาถาวรจะใช้การจี้ด้วยไฟฟ้าที่รูเปิดท่อน้ำตาที่หัวตา
- การผ่าตัดเปลือกตา ได้แก่ การเย็บเปลือกตาให้ติดกันและการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาที่ม้วนเข้าหรือออก โดยการเย็บเปลือกตาให้ติดกันนั้นอาจเย็บที่หัวตา ทำเพื่อให้ช่องว่างของเปลือกตาลดลงลดการระเหยของน้ำตา ทำในกรณีที่ตาแห้งมากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือผู้ป่วยที่มีการกะพริบตาน้อยหรือหลับตาไม่สนิท โดยอาจต้องทำร่วมกับการอุดท่อน้ำตา ในบางครั้งอาจใช้การฉีดยา Botox ที่เปลือกตา ทำให้เปลือกตาปิดลืมไม่ได้เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน มาแทนการเย็บเปลือกตาได้ สำหรับการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาที่ม้วนเข้าหรือออก จะช่วยให้เปลือกตากลับมาคงรูปและทำงานได้ตามปกติช่วยให้น้ำตากระจายตัวเคลือบผิวตาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ถ้าผิวตามีก้อนนูนผิดปกติ เช่น ต้อลม ต้อเนื้อที่นูน พังผืดที่เยื่อบุตาร่วมกับตาแห้ง ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาก้อนที่นูนเหล่านี้ออกด้วย
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลโดย
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
เวลาทำการ : ตรวจรักษาและดูแลดวงตา ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร : 02-022-7644