Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

ความดันโลหิตสูง (Hypertension)

           ความดันโลหิตสูง เป็นมหันตภัยเงียบ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยขึ้น เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่ไม่ค่อยมีอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยในระยะเริ่มแรก หรือไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง จนเกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น อัมพฤกษ์, อัมพาต, หัวใจวายเฉียบพลัน, ไตวาย เป็นต้น ความดันโลหิตสูงมักจะเกิดร่วมกับภาวะโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน, โรคไต, โรคหัวใจ, กลุ่มอาการอ้วนลงพุง ทำให้การดูแลรักษาโรคความดันโลหิตสูงต้องได้รับการดูแลรักษาในลักษณะองค์รวม รวมถึงการเลือกใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสมกับโรคต่างๆ ที่เป็นร่วม

           ความดันโลหิตคืออะไร      ความดันโลหิต เป็นแรงดันของโลหิตในหลอดเลือดแดง ซึ่งวัดเป็น 2 ค่า คือ

1. ความดันโลหิตตัวบน เป็นแรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว

2. ความดันโลหิตตัวล่าง เป็นแรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว

 

          สาเหตุความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น 2 ชนิด

1. ไม่ทราบสาเหตุ พบได้ 90% ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงที่น่าจะเป็นสาเหตุ ได้แก่
           1.1 กรรมพันธุ์
           1.2 เชื้อชาติ
           1.3 ความเครียด
           1.4 ขาดการออกกำลังกาย
           1.5 ความอ้วน
           1.6 สูบบุหรี่
           1.7 การดื่มสุรา
2. ทราบสาเหตุ พบได้ 10%
           2.1 โรคไตเสื่อม, ไตวาย
           2.2 เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
           2.3 มีพยาธิสภาพในสมอง
           2.4 ภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษ
           2.5 ยาบางชนิด

 

ความดันโลหิตสูงมีอันตรายอย่างไรถ้าปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเป็นอยู่นาน โดยไม่ได้รับการรักษาจะทำให้หลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพ แข็งตัว, ตีบตัน หรือแตก ทำให้เกิดโรคกับอวัยวะต่างๆ เช่น
           • หัวใจ เกิดกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว หัวใจโตขึ้น, เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ภาวะ หัวใจล้มเหลว
           • สมอง เกิดหลอดเลือดในสมองแตก, เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต
           • ไต เกิดภาวะไตวาย
           • ตา ทำให้หลอดเลือดตาตีบ, แตก เกิดเลือดออกในตา ทำให้ตามัว ตามองไม่เห็นทั้งชั่วคราวและถาวรได้

ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง และไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจาก
           1. หัวใจวาย 60-70%
           2. เส้นเลือดในสมองอุดตันหรือแตก 20-30%
           3. เสียชีวิตจากไตวาย 5-10%

การรักษา

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การลดอาหารรสเค็ม ลดน้ำหนักตัว, งดสูบบุหรี่, หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายให้มากขึ้น, ลดความเครียด, นอนพักผ่อนให้พอเพียง
           • การควบคุมน้ำหนักตัว
                      – โดยควบคุมดัชนีมวลกาย ( B.M.I )ไม่เกิน 23
                      – เส้นรอบวงระดับเอวในผู้ชายไทยไม่เกิน 90 ซม.
                      – เส้นรอบวงระดับเอวในผู้หญิงไทยไม่เกิน 80 ซม.
           • การออกกำลังกาย
                      – เมื่อควบคุมความดันได้ดีแล้ว ควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย

                        สัปดาห์ละ 5 วัน
           • ลดอาหารเค็ม
                      – โดยการจำกัดโซเดียมในอาหาร ไม่ควรบริโภคโซเดียมมากกว่า 2,300 มก. ต่อวัน โดยประมาณว่า

                        เกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์) 1 ช้อนชา (5 กรัม) มีโซเดียม   2,000 มก. น้ำปลา 1 ช้อนชา มีโซเดียมประมาน 350-500 มก.

2. การใช้ยา
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ซึ่งอาจมีความดันเริ่มแรกแตกต่างกันมีโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน การใช้ยาจึงต้องเลือกให้เหมาะสมสำหรับแต่ละคน และในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยามากกว่า 1 ชนิด เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

                                                                                                                                                                                                                                         นพ.สุทธิพงศ์ ทัศนียพันธุ์
                                                                                                                                                                                                                                             อายุรแพทย์โรคหัวใจ

 

2019-05-16T11:13:40+00:00