โอย…โอย…ปวดท้องอีกแล้ว มีประจำเดือนทีไร ปวดท้องน้อย ทุกทีเลย เสียงคร่ำครวญดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่ง ถ้าไม่เกิดกับใครจะไม่รู้สึกหรอก
คุณผู้หญิงบางท่านไม่เคยปวดท้องน้อยมาก่อนไม่ว่าจะเกี่ยวกับการมีประจำเดือนหรือไม่มีประจำเดือน ก็ไม่เคยปวดสบายดีมาตลอด แต่วันนี้ทำไมจู่ๆเกิดปวดขึ้นมาอย่างเฉียบพลันทันใด อูยยยย….เกิดอะไรขึ้นละเนี่ย
อาการปวดท้องน้อยในคุณผู้หญิงเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยๆที่ทำให้ต้องมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจและรักษา เป็นอาการที่สร้างความกังวลใจให้ได้เรื่อยๆโดยเฉพาะคนที่เป็นอยู่เนืองๆหรือเป็นเรื้อรังไม่หายสักที ดังนั้นเราจึงควรมารู้จักกับอาการปวดท้องน้อยกันสักหน่อย เพื่อจะได้ทราบแนวทางทั้งการตรวจวินิจฉัยรวมถึงแนวทางการรักษาด้วย
เบื้องต้นควรเข้าใจให้ตรงกันว่า บริเวณท้องน้อยของคุณผู้หญิงที่ผู้เขียนหมายถึงนั้น ก็คือบริเวณช่องท้องส่วนล่างนับตั้งแต่ตำแหน่งสะดือลงมาจนถึงขอบบนของกระดูกเชิงกราน บริเวณทั้งหมดนี้จะมีอวัยวะสำคัญหลายอย่างที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้ ก็มีมดลูก ปีกมดลูกทั้งสองข้าง(คือท่อนำไข่และรังไข่ทั้งสองข้าง) กระเพาะปัสสาวะอยู่ด้านหน้าของมดลูก มีลำไส้ทั้งเล็กและใหญ่อยู่เต็มช่องท้องซึ่งเคลื่อนไหวบีบตัวอยู่ตลอดเวลา โดยมีไส้ติ่งอยู่ที่บริเวณด้านขวาต่ำกว่าสะดือมาเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีท่อไตทั้งสองข้างอยู่ในผนังช่องท้องด้านหลังอีกด้วย จะเห็นว่ามีอวัยวะมากมายที่อยู่ในบริเวณท้องน้อยนี้ และที่สำคัญทุกอวัยวะดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้ทั้งสิ้น ! โดยอาจจะเกิดจากการอักเสบ การบาดเจ็บ การเป็นเนื้องอกหรือเป็บมะเร็ง แม้กระทั่งการผิดปกติมาแต่กำเนิดเป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น
โรคของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี คือ มดลูกและรังไข่ที่ทำให้ปวดท้องน้อยได้บ่อยๆ อาจจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ กลุ่มที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ทำให้ปวดท้อง เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก การแท้งลูก เป็นต้น
กลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์เช่น การอักเสบในอุ้งเชิงกราน ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ผิดที่ (หรือที่เป็นช็อคโกแลตซีสต์นั้นแหละ) การปวดประจำเดือนที่มดลูกและรังไข่ปกติ การมีเนื้องอกของมดลูก มีเนื้องอกของรังไข่ที่มันแตกหรือบิดขั้วเป็นต้น
โรคของระบบทางเดินปัสสาวะ คือกระพาะปัสสาวะอักเสบ หรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือที่ท่อไตเป็นต้น
โรคของระบบทางเดินอาหารที่ทำให้ปวดท้องน้อย ที่พบบ่อย เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ หรือมีการทำงานของลำไส้แปรปรวน มีท้องเสียบ้าง ท้องผูกบ้าง หรือการมีเนื้องอกหรือมะเร็งของลำไส้ เป็นต้น
การบ่งบอกว่าอาการปวดท้องน้อยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร แพทย์ผู้ดูแลก็จะต้องทำการซักถามประวัติความเป็นมาต่างๆ ลักษณะการปวดว่าเป็นแบบใด ปวดที่ตรงไหน ปวดเวลาใด เวลาปวดสัมพันธ์กับอะไร เช่น มีคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะลำบาก หรือมีเลือดออกมาจากทางช่องคลอดด้วยหรือไม่เป็นต้น จากนั้นก็เป็นการตรวจร่างกายทุกๆระบบ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงก็ต้องตรวจภายในด้วย และสุดท้ายก็เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น การเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ อาจจะมีการถ่ายภาพรังสีเอ็กเรย์ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ และการตรวจพิเศษอื่นๆตามความจำเป็น เช่น ต้องส่องกล้องเข้าไปดูในช่องท้อง หรือส่องดูในลำไส้หรือไม่เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการวินิจฉัยโรคแล้ว ก็จะให้การรักษาตามที่คิดว่าจะเป็นโรคนั้นๆไป ซึ่งอาจจะเป็นการให้ยา การผ่าตัด การนัดตรวจติดตามเป็นระยะหรือแม้กระทั่งการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวก็เพียงพอแล้วสำหรับโรคบางโรค
ดังนั้นถ้าครั้งหน้าคุณผู้หญิงเกิดมีอาการปวดท้องน้อยขึ้นมาอีก ถ้ารักษาเบื้องต้นด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น ก็อย่ารั้งรอเนิ่นนานเกินไป แวะมาคุยกับแพทย์หรือมารับการรักษาเสียแต่เนิ่นๆก็น่าจะดีต่อสุขภาพของคุณนะครับ
ด้วยความปรารถนาดีจากศูนย์ส
น.พ.สมเกียรติ คูอมรพัฒนะ สูตินรีแพทย์
หน่วยมะเร็งนรีเวช
โดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งนรีเวช มะเร็งในผู้หญิง
สอบถามเพิ่มเติมที่
หน่วยมะเร็งนรีเวช
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
โทร : 02-022-7641 หน่วยมะเร็งนรีเวช / ศูนย์สูตินรีเวช